สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น







คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “หัตถกรรมผ้าไหมสื่ออัตลักษณ์”
ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T)


         เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “หัตถกรรมผ้าไหมสื่ออัตลักษณ์” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ณ ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรมและ อ.ดร.พรทิพย์ โพนตุแสง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่โครงการตำบลขัวเรียง พร้อมคณะทำงาน  และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด และ นายวิศรุต ปู่เพ็ง สมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น (สจ.) เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการฝึกอบรมครั้งนี้
         สำหรับการจัดฝึกอบรมครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเพิ่มอัตลักษณ์งานหัตถกรรมผ้าไหม ผ้าฝ้าย ของชุมชนตำบลขัวเรียง อ.ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมีวิทยากร 2 ท่าน คือ 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนัษฎา จุลลัษเฐียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 2) คุณทวี สุขโข ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมมัดหมี่จากคุ้มสุขโข อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ในการอบรมนี้ผู้เข้าอบรมได้มีการทำกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิเคราะห์ตนเอง เพื่อถอดรหัสสู่การสร้างอัตลักษณ์ลายมัดหมี่ และการกำหนดวิถีแห่งการสร้างสรรค์แบรนด์ท้องถิ่น ฝึกการมองรอบด้าน ให้กับหัตถกรรมผ้าไหมของคนในกลุ่มอีกด้วย
         โครงการฝึกอบรมนี้ดำเนินการ ณ วัดราษี หมู่ที่ 12 บ้านขามป้อม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล กำนันตำบลขัวเรียง และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 12 หมู่บ้าน ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ผู้อบรมได้ถอดบทเรียนเกี่ยวกับสี ลาย และการทอ เพื่อสื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชนตำบลขัวเรียง ซึ่งได้ชื่อของแบรนด์สำหรับชุมชนในการถอดบทเรียนครั้งนี้คือ “ศักดิ์สิทธิ์แบรนด์” ซึ่งมีความสอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรม และสถานที่แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของตำบลขัวเรียง เช่น น้ำตกคารวะ ถ้ำพระ ฯลฯ  การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการเพิ่มอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่นต่อไป
 
 
 
ภาพกิจกรรม
 
 

สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น