เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “หัตถกรรมไม้ไผ่ร่วมสมัยกลุ่มวิสาหกิจผู้สูงอายุ” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ณ ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรม และอ.ดร.พรทิพย์ โพนตุแสง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่โครงการตำบลขัวเรียง พร้อมคณะทำงาน และได้รับเกียรติจาก นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นายอำเภอชุมแพ เป็นประธานในพิธีเปิด และนายกัมปนาถ ถาวงษ์กลาง ปลัดอำเภอชุมแพ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการฝึกอบรมครั้งนี้ การฝึกอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานหัตกรรมจักสานของกลุ่มวิสาหกิจผู้สูงอายุทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่ให้มีความน่าสนใจ ทันสมัยและลงตัวด้วยความมีเอกลักษณ์ของชุมชน ของตำบลขัวเรียง อ.ชุมแพ โดยมีวิทยากร คือ คุณนพมาศ คดอุย ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและการออกแบบหัตถกรรมร่วมสมัย ในการอบรมวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในช่วงเช้า (09.00 น.-12.00 น.)
ผู้เข้าอบรมได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อเรื่อง 1. เทคนิคการสร้างงานหัตถกรรมไม้ไผ่ด้วยวิธีการ ขัดสาน ผูกมัด ต่อเข้าลิ้นเข้าลิ่ม 2. แรงบันดาลใจเพื่อการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม 3. รูปแบบของการผลิตชิ้นงาน 4. วิธีการสร้างคุณค่าและมูลค่าของผลงาน 5. การสร้างเรื่องราวให้กับศิลปินและผลงาน เพื่อการยกระดับคุณค่าและมูลค่า และ 6. องค์ประกอบศิลป์ที่สำคัญต่อการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม สำหรับในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มิถุนายน และวันที่15 มิถุนายน 2564 ผู้เข้ารับการอบรมได้มีการฝึกปฏิบัติการประกอบชิ้นงานเก้าอี้ไม้ไผ่และขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โคมไฟจากกระบอกไม้ไผ่ โดยผู้เข้าร่วมอบรมให้ความใส่ใจในการร่วมกิจกรรมอย่างดีมาก จนทำให้ได้รูปร่างของชิ้นงานที่มีความสวยงามน่าใจและสร้างความแปลกใหม่ของรูปแบบชิ้นงานสำหรับกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้
โครงการฝึกอบรมนี้ดำเนินการ ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจผู้สูงอายุ หมู่ที่ 4 บ้านขามป้อม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล กำนันตำบลขัวเรียง และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 12 หมู่บ้าน จำนวน 30 คน นอกจากชิ้นงานที่มีความแตกต่างและหลากหลายที่เกิดการจากฝึกอบรมครั้งนี้แล้ว การอบรมนี้ยังเป็นการจุดประกายสำหรับคนในพื้นที่ในการต่อยอด และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ได้หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ในกับคนในพื้นที่นี้ต่อไป อีกทั้ง ยังสามารถต่อยอดในการเป็นแหล่งเรียนรู้ในการถ่ายทอดและสืบสานศิลปะงานหัตถกรรมของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี