สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น







คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดโครงการฝึกอบรม “การเพาะขยายพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ และการปลูกไม้แบบประณีต
เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล
แบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T)


         เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การเพาะขยายพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ และการปลูกไม้แบบประณีต เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ณ พื้นที่ตำบล ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น          
         โดยมี ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรม และอ.ดร.พรทิพย์ โพนตุแสง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่โครงการตำบลขัวเรียง พร้อมคณะทำงาน การฝึกอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ไม้ การคัดแม่ไม้พันธุ์ดี ไม้เศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย พันธุ์ไม้ประจำพื้นถิ่น และเทคนิคการปลูกไม้ไผ่ และการเพิ่มรายได้ในระบบวนเกษตร โดยมีวิทยากร คือ อาจารย์นพพร นนทภา ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ และการปลูกป่าฟื้นฟูไม้พื้นถิ่น และ ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรม ในการอบรมครั้งนี้          
         ผู้เข้าอบรมได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อเรื่อง 1. หลักการเพาะ การขยายพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล (ทุเรียน) ไม้ใช้สอย 2. วิธีการคัดแม่ไม้พันธุ์ดีและการเพาะขยายพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย การปลูกป่าอย่างไรให้ได้เห็ด 3. เทคนิคการปลูกไผ่ การปลูกผักหวานป่า และการเพิ่มรายได้ในระบบวนเกษตร และผู้เข้ารับการอบรมได้มีการฝึกปฏิบัติการปลูกขยายพันธุ์ไม้ไผ่ ผักหวานป่าและการดูแลและตัดแต่งกิ่งไม้เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่า โครงการฝึกอบรมนี้ดำเนินการจัดอบรมภาคบรรยายและปฏิบัติการ ณ ศาลาประชาคม และไร่พิกุลทอง บ้านขามป้อม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล กำนันตำบลขัวเรียง และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 12 หมู่บ้าน จำนวน 30 คน การอบรมนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนในพื้นที่สำหรับการต่อยอดในการขยายพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย ไม้ไผ่ และพันธุ์ไม้พื้นถิ่น เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่นี้ต่อไป
 
 
 
ภาพกิจกรรม
 
 

สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น