สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น







คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดโครงการฝึกอบรม “มข. โคบาลอาสาในการรักษาสุขภาพโคเบื้องต้น
เนื่องจากโรคลัมปีสกิน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล
แบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T)


         เมื่อวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “มข. โคบาลอาสาในการรักษาสุขภาพโคเบื้องต้นเนื่องจากโรคลัมปีสกิน” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ: U2T) ณ ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ. มัลลิกา ศรีสุธรรม และ อ.ดร.พรทิพย์ โพนตุแสง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่โครงการตำบลบ้านฝาง พร้อมคณะทำงาน ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ นายอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น และปศุสัตว์อำเภอบ้านฝาง เข้าร่วมเป็นเกียรติในการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้
         สำหรับการจัดฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดลัมปิสกิน (Lumpy Skin Disease: LSD) ในวัว ซึ่งมีการระบาดเป็นวงกว้างในพื้นจังหวัดขอนแก่นซึ่งประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยการระบาดและมีการกระจายโรคแล้วทั่วภาคอีสาน ในการอบรมครั้งนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและรักษาโรคลัมปีสกิน 2 ท่าน คือ รศ.ดร.กฤตพล สมมาตย์ สังกัดสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.สพ.ชัยวัฒน์ จรัสแสง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการบรรยายในช่วงเช้าของวันที่ 8 กรกฎาคม ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลัมปีสกิน การป้องกัน รักษาและการบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับวัว โครงการฝึกอบรมปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นอาสาปศุสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว จากหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลบ้านฝาง และตำบลป่ามะนาว อ.บ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น รวมถึงอาสาสมัครในชุมชน รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโครงการ U2T ในพื้นที่ทั้งภาคประชาชนและบัณฑิต ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะเกษตรศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 คน ในช่วงบ่ายของวันที่เดียวกัน และต่อเนื่องในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีการปฏิบัติการรักษาวัวในฟาร์มและคอกของเกษตรกรในหมู่บ้านที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่ตำบลบ้านฝางและพื้นที่ตำบลป่ามะนาวซึ่งจากการสำรวจและลงพื้นที่ทั้งสองวันพบว่า มีวัวเกิดโรคมากกว่า 20 คอก รวมการรักษาวัวมากกว่า 30 ตัว
         ภายหลังการจัดฝึกอบรมในวันที่ 8 – 9 กรฎาคม 2564 แล้ว ทางผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ภายใต้โครงการ U2T ตำบลบ้านฝาง ยังได้มีการติดตามอาการของวัวที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยมีรายงานจากพื้นที่ว่าสามารถลดอัตราการตายของวัว และลดการสูญเสียรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เป็นการได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในครั้งนี้ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเป็นอย่างดี โดยเกษตรกรมีรู้ ความเข้าใจในการรับมือกับโรคลัมปีสกินมากยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรมีความซาบซึ้งและขอขอบคุณการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะทำงานทุกท่านที่ได้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอบรมครั้งนี้



 
 
 
ภาพกิจกรรม
 
 

สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น