สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น







U2T เกษตรศาสตร์ มข. จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างต้นแบบเติมน้ำใต้ดิน (ธนาคารน้ำใต้ดิน)”


         เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างต้นบ่อเติมน้ำใต้ดิน (ธนาคารน้ำใต้ดิน)” ณ วัดศรีประชาราม บ้านโคกสี ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการ U2T โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มัลลิกา ศรีสุธรรม และ อ.ดร.พรทิพย์ โพนตุแสง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลบ้านฝาง ในการฝึกอบรมฯ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายนพพร พรมจักร กำนันตำบลบ้านฝาง เป็นประธานในพิธีเปิด ในการนี้มี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่าง ๆ และสมาชิกชุมชนตำบลบ้านฝาง เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 30 คน ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เน้นเทคนิคการทำต้นแบบบ่อเติมน้ำแบบปิด เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่ายและใช้งบประมาณไม่สูง และที่สำคัญประชาชนสามารถนำไปดำเนินการในระดับชุมชนและระดับครัวเรือนในพื้นที่ของตนเองได้ โดยกิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการบรรยายเกี่ยวกับหัวข้อ (1) หลักการเติมน้ำใต้ดิน และ (2) การเลือกพื้นที่สำหรับทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดย ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการลุ่มน้ำและนิเวศวิทยาทรัพยากรที่ดินเป็นผู้บรรยาย และ (3) การบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคการวางตำแหน่งทำบ่อแบบเปิดและแบบปิด (4) ประโยชน์ของธนาคารน้ำใต้ดิน และ (5) กรณีศึกษาพื้นที่ที่ดำเนินการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมี คุณเฉลิมเกียรติ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเป็นผู้บรรยาย
         ในช่วงบ่าย วิทยากรและผู้เข้าร่วมฝึกอบรมร่วมกันทำต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ในบริเวณพื้นที่ วัดศรีประชาราม บ้านโคกสี ตำบลบ้านฝาง ซึ่งบริเวณดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเมื่อเกิดฝนตก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่มต่ำ ดังนั้น วิทยากรจึงเลือกพื้นที่นี้เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขัง โดยตลอดการฝึกปฏิบัติการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้นำ หมู่บ้านต่าง ตลอดจนสมาชิกในชุมชน ทำให้ได้ต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินตามมาตรฐาน ของชุมชนบ้านฝางที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานแก่ผู้ที่สนใจเพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยในระหว่างที่รับฟังการบรรยายและฝึกปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมได้ซักถามวิทยากรเป็นระยะตลอดช่วงเวลาที่ร่วมกิจกรรมทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมการเติมน้ำใต้ดินให้แก่ชมชนบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนในครั้งนี้


 
 
 
ภาพกิจกรรม
 
 

สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น